ไม่มีไม่ได้แล้ว.. โลจิสติกส์ภาคขนส่งพึ่งใบบุญรัฐ หนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ติด'เอ็นจีวี'ตัวช่วยลดต้นทุน
ผลจากราคาน้ำมันดีเซลที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโลจิสติกส์ภาคการขนส่งอย่างเต็มๆ ล่าสุดฉุดตัวเลขต้นทุนขนส่งต่อเที่ยวเพิ่มสูงถึง 55 % แล้ว ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการเริ่มเคลื่อนไหว เรียกร้องให้รัฐบาล เร่งนโยบายลดต้นทุนพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการออกมาตรการสนับสนุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากน้ำมันดีเซลมาเป็นก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 3 เท่าของการใช้น้ำมัน
++โอด!ต้นทุนพลังงานพุ่งไม่หยุด
นายชุมพล สายเชื้อ ประธานบริษัทไทยโลจิสติกส์ อัลลายแอนซ์ จำกัด (ทีแอลเอ) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์น้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า จากการหารือร่วมกันของบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์กว่า 30 บริษัทในกลุ่มทีแอลเอ เห็นว่า ต้นทุนหลักของภาคธุรกิจขนส่ง คือต้นทุนพลังงาน ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ให้บริการด้านขนส่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทไม่สามารถปรับขึ้นค่าระวางสินค้าได้
ทั้งนี้ทางกลุ่มทั้ง 30 บริษัทภาคขนส่งมีความเห็นร่วมกัน ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ด้วยการออกมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการในการใช้พลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการติดตั้งก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนด้านขนส่งของประเทศลงได้อย่างมาก เนื่องจากหมวดการขนส่งหลักกว่า 80 %ของประเทศ เป็นการขนส่งทางถนนหรือรถบรรทุก
ซึ่งปัจจุบันมีรถที่จดทะเบียนอยู่ในระบบประมาณ 70,000 คัน แต่มีรถที่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซเอ็นจีวีแค่ประมาณ 10,000 กว่าคัน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือผู้ให้บริการต่างชาติ
"ถ้ารัฐบาลจะผลักดันจริงๆ ก็ควรต้องหาแนวทางหรือมาตรการอะไรมาปลดล็อกในเรื่องนี้ให้ได้ ตัวอย่างรถที่จดทะเบียนอยู่ในระบบที่เป็นรถบรรทุกสินค้าขณะนี้มีประมาณ 70,000 คัน แต่มีรถที่เปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้เอ็นจีวีแค่10,000 กว่าคัน ทั้งที่เอ็นจีวีถูกกว่าดีเซลถึง 3 เท่า ซึ่งถ้ารัฐผลักดันเรื่องเอ็นจีวีอย่างจริงจังจะช่วยลดต้นทุนพลังงานของประเทศลงได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้รัฐควรช่วยดูในเรื่องของรถเที่ยวเปล่า ซึ่งหากมีมาตรการอะไรออกมาช่วยในเรื่องนี้ได้ ก็จะเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการขนส่ง"
++ร้องรัฐหนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำติดเอ็นจีวี
นายชุมพลกล่าวต่อว่า ถึงแม้ขณะนี้ผู้ประกอบการต้องการจะเปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี แต่ก็ยังมีปัญหาด้านสถานีบริการที่มีปริมาณไม่เพียงพอ และเงินทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์
ดังนั้นเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการสนับสนุนในเรื่องนี้ อาทิ 1.การผลักดันให้เกิดสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ 2.สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือสามารถให้ผู้ประกอบการใช้รถบรรทุกค้ำประกันแทนสินทรัพย์ได้ รวมถึงการเข้ามาดูด้านอุปกรณ์ในการติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีที่ยังมีราคาแพงอยู่มาก
ทั้งนี้เห็นว่าหากรัฐบาลสามารถผลักดันให้รถบรรทุกมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีได้ จะทำให้ลดต้นทุนด้านขนส่งลงได้อย่างมหาศาล ซึ่งจากตัวเลข 70,000 คัน จะมีรถที่วิ่งจริงอยู่ประมาณ 50,000 คัน
แต่ละคันใช้น้ำมันเฉลี่ย 200 ลิตรต่อวัน ถ้าเปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีจะประหยัดได้
ลิตรละ 20 บาท รถ1 คันก็จะประหยัดได้ 4,000 บาท ถ้า 500,000 คันก็จะประหยัดได้มหาศาล
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาถึงแม้ผู้ประกอบการด้านขนส่งได้มีความพยายามที่จะปรับขึ้นค่าระวางสินค้า แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้จ้างหรือเจ้าของสินค้าไม่สามารถไปปรับเพิ่มราคาสินค้าได้ และหากมีการปรับขึ้นค่าระวางผู้ใช้บริการก็จะเลือกไปใช้ผู้ให้บริการรายอื่นแทน เนื่องจากปริมาณรถมีมากกว่าความต้องการ นอกจากนี้การปรับขึ้นของราคาน้ำมันที่เฉลี่ยปรับขึ้นเดือนละ 4-5 ครั้ง ยังทำให้ผู้ประกอบการขนส่งไม่สามารถคำนวณต้นทุนที่แท้จริงได้
++ระบุเอ็นจีวีทำให้ต้นทุนลดถึง70%
นายสัญญวิทย์ เศรษฐโภคิน เลขาธิการสมาคมขนส่งสินค้า กล่าวว่า สถานการณ์ของธุรกิจโลจิสติกส์ในปีนี้ ยังอยู่ในสภาพทรงตัว โดยธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซล ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสินค้า เริ่มหันไปลงทุนเพื่อเปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาเป็นก๊าซเอ็นจีวีแทน ทั้งนี้ แม้ต้นทุนการติดตั้งเอ็นจีวีจะมีต้นทุนสูง โดยราคาติดตั้งต่อคันประมาณ 5 แสนบาท แต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับก๊าซเอ็นจีวีจะพบว่าการใช้ก๊าซเอ็นจีวีทำให้ต้นทุนลดลงถึง 70% จากที่เคยเติมน้ำมันดีเซลในราคา 100 บาท เมื่อเปลี่ยนมาเป็นเอ็นจีวี ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 30 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเครือข่ายการให้บริการของเอ็นจีวี ยังไม่แพร่หลายและครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้เกิดต้นทุนแฝง ซึ่งมาจากการใช้ระยะเวลาในการเดินทางไปยังสถานีเติมเอ็นจีวี ซึ่งอยู่ห่างไกล รวมถึงค่าแรงของพนักงานขับรถที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนที่ประหยัดจริงเหลือเพียง 30-40% เท่านั้น ดังนั้นจึงอยากให้สถานีบริการเอ็นจีวีขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมขึ้น เพื่อให้เกิดการประหยัดอย่างแท้จริง
++ เสนอปตท.เพิ่มสถานีบริการ
ขณะที่นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้ายังต้องตรึงราคาค่าขนส่งไว้ และอาจต้องปรับลดค่าขนส่งลงตั้งแต่เดือนนี้(พ.ค.)จนถึงปลายปี เนื่องจากใกล้สิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้จำนวนเที่ยวที่วิ่งของรถบรรทุกลดลงถึง 50 % ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
แต่ขณะเดียวกันยังมีปัญหาในเรื่องของจำนวนสถานีบริการที่มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพิ่มปริมาณสถานีบริการให้มากขึ้นอีก 6เท่าจากที่มีอยู่ เนื่องจากขณะนี้รถบรรทุกต้องใช้เวลารอเติมก๊าซเอ็นจีวีแต่ละครั้ง 3-4 ชั่วโมง ซึ่งเสียเวลาเป็นอย่างมากจึงอยากให้ปตท.เร่งดำเนินการและวางแผนระยะยาวไม่ให้เกิดวิกฤติการขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวี
นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งดำเนินการออกกฎหมายหรือวิธีการอื่นๆในการช่วยผู้ประกอบการรถบรรทุกในประเทศ เนื่องจากมีต่างชาติเข้ามาตั้งบริษัทจ้างคนไทยวิ่งรถและใช้วิธีกดราคา ทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยได้รับความเดือดร้อน จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูเพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
++ส.อ.ท.จี้รัฐผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันได้ปรับขึ้นประมาณ 25% ทำให้ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ อาทิ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์หรือด้านการขนส่ง ทั้งทางน้ำ ทางเรือ ทางอากาศ และทางบก ได้รับผลกระทบมากส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมต่างจังหวัดที่ส่งสินค้าเข้ามาขายในกรุงเทพฯ ที่จะทำให้การขนส่งจากเดิมที่ค่าขนส่งจะอยู่ที่ 35%ของต้นทุนทั้งหมด แต่ขณะนี้ต้นทุนการขนส่งได้ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 50-55% ของต้นทุนทั้งหมด
อย่างไรก็ตามสำหรับสถานการณ์น้ำมันขณะนี้มองว่าน้ำมันไม่น่าจะมีโอกาสปรับตัวต่ำลงได้ เนื่องจากความต้องการใช้มีมากกว่าการผลิตประมาณ1% ทำให้มีการแข่งขันด้านราคา รวมทั้งสถานการณ์ของเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัว และมองว่าราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจน เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ในการประหยัดพลังงาน เช่น อุปกรณ์ที่ประกอบเครื่องยนต์เอ็นจีวี ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการสนับสนุนให้ภาคการขนส่งหันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี ด้วยการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ
ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 20.3-21.5%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) สูงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี2545 ที่ต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่19.1% ของจีดีพี เนื่องจากราคาน้ำมันมีราคาแพงขึ้น ดังนั้นระยะสั้นผู้ประกอบการต้องปรับปรุงระบบบริหารจัดการ สินค้าคงคลัง และคลังสินค้า เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนค่าขนส่ง เช่น การส่งสินค้าตรงเวลา จะทำให้ลดสินค้าคงคลังและไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้มาก รวมทั้งเร่งสร้างพันธมิตรธุรกิจเพื่อให้การขนส่งสินค้าไม่มีเที่ยวเปล่า
++เอดีแอล ฝากขอ.ดูแล"ฟิว เซอร์ชาร์จ"
นายปรับปรุง ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอดีแอล จำกัด หนึ่งในสมาชิกสมาคมตัวแทนผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ (ทาฟ่า) กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการคงไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนักเนื่องจาก ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้บวกเพิ่มไปกับค่าระวางหรือค่าตั๋วเครื่องบินแล้ว แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือผู้ส่งออกทั่วไป โดยในความเห็นส่วนตัวมองว่าการที่สายการบินมีการปรับราคาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม และอัตราค่าระวางเครื่องบินน่าจะอยู่ต่ำกว่าปัจจุบันอย่างน้อย 50%
ทั้งนี้เห็นว่ากรมการขนส่งทางอากาศ(ขอ.) น่าจะลงมาดูแลในเรื่องของการขึ้น ฟิว เซอร์ชาร์จ ของสายการบินบ้าง เพราะบางสายการบินก็มีการขึ้นราคาอย่างไม่สมเหตุสมผล โดยที่ผ่านมากรมการขนส่งทางอากาศก็ได้แต่เพียงรับทราบแต่ไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะลงมาดูแลในเรื่องดังกล่าวอย่างไร โดยเห็นว่า รัฐบาลควรตระหนักถึงปัญหานี้ และลงมากำกับดูแลอย่างใกล้ชิดก่อนที่ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศจะสูงไปกว่านี้ เพราะที่ผ่านมา 1 ปีโครงการต่างๆที่รัฐบาลเดิมวางเอาไว้แล้วไม่สามารถทำได้หลังจากการมีรัฐประหาร หลายโครงการก็ล่าช้าออกไปจากเดิม ส่วนสิ่งที่น่าจะช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันได้ คือบริษัทผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ต้องนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลดต้นทุน
Friday, May 16, 2008
ไม่มีไม่ได้แล้ว.. โลจิสติกส์ภาคขนส่งพึ่งใบบุญรัฐ หนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ติด'เอ็นจีวี'ตัวช่วยลดต้นทุน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment