มิทซึฮิโระ โซโนดะ นายใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศแผนการผลิตรถยนต์ไฮบริดในไทย พร้อมเปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการพัฒนารถยนต์ซีเอ็นจี ที่จะแนะนำสู่ตลาดภายในปีนี้ ที่ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ
นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเเผยว่า โตโยต้ามีความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งยึดถือเป็นปรัชญาของโตโยต้าในการสร้างสรรค์และพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ ล้ำสมัย ซึ่งแผนงานขั้นต่อไปของการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ Ultimate eco-friendly vehicle คือการประกอบรถยนต์ไฮบริดในประเทศไทยในรถยนต์นั่งคัมรี(รถยนต์ที่ใช้พลังงาน ผสมระหว่างน้ำมันกับไฟฟ้า) ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นว่า คัมรี ไฮบริดใหม่นี้ จะทำให้โตโยต้ารักษาความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์นั่งระดับกลาง และนำประโยชน์ให้กับลูกค้าชาวไทย ในด้านการใช้รถยนต์ที่สามารถประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องยนต์ทั่วไป โดยใช้ โรงงานประกอบรถยนต์ในโรงงานเกตต์เวย์ที่ฉะเชิงเทรา นับเป็นโรงงานแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกอบรถยนต์คัมรีไฮบริด
ส่วนการผลิตมีกำลังการผลิตเบื้องต้น 9,000 คันต่อปี จะเริ่มผลิตในปี 2552 ส่วนราคายังไม่สามารถกำหนดได้เนื่องจากต้องคำนวณต้นทุนของแบตเตอรี่และ มอเตอร์ที่จะนำมาประกอบก่อน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับรถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับความก้าวหน้าในการประกอบรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซีเอ็นจี นั้น นายโซโนดะ กล่าวว่า"โตโยต้าขอขอบคุณ TMAP-EM ที่ได้พัฒนาและทดสอบรถยนต์ที่ใช้พลังงาน ซีเอ็นจี ในโคโรลล่า โดยได้ทำการพัฒนาให้เครื่องยนต์มีความเหมาะสมสำหรับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบส่งเชื้อเพลิงและถังเชื้อเพลิง ซึ่งทั้งหมดนี้จะติดตั้งจากโรงงานเกตเวย์โดยตรง โดยเรามั่นใจว่า รถยนต์ซีเอ็นจีของโตโยต้า มีความทนทาน ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เรามั่นใจในคุณภาพของรถยนต์รุ่นนี้ โดยมีระยะเวลารับประกัน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และคาดว่าจะแนะนำเข้าสู่ตลาดภายในปีนี้"
"รถยนต์ไฮบริดนั้น เป็นเทคโนโลยียานยนต์ระดับสูง ที่ให้ทั้งความยอดเยี่ยมในด้านสมรรถนะการขับขี่ ลดการใช้น้ำมันและมีมลพิษในไอเสียต่ำกว่าเครื่องยนต์ทั่วไป โดยเครื่องยนต์ไฮบริดนั้นสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เรามีความมั่นใจว่า คัมรี ไฮบริด จะเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าชาวไทยอีกรุ่นหนึ่ง " นายโซโนดะ กล่าว และว่า
ส่วนเรื่องการที่รัฐบาลสนับสนุนน้ำมันอี 85 ทางโตโยต้าขอเวลาพิจารณาขยายสายการผลิตระยะเวลาประมาณ 2 ปี และจะดูว่าตลาดมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ราคาน้ำมันอี 85 ควรถูกกว่าน้ำมันเบนซินปกติลิตรละ 15-20 บาท เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้
ด้านนายชิเกรุ มูราอิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯมีแผนเพิ่มการลงทุนของบริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด ในการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล ตอบสนองความต้องการของตลาดโลกในโครงการไอเอ็มวี มูลค่าการลงทุนกว่า 5,400 ล้านบาท
"การขยายการลงทุนในครั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการเครื่องยนต์ดีเซลของตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่าง ประเทศ ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2553 นั้น จะมีความต้องการเครื่องยนต์ดีเซลสูงถึง 300,000 เครื่อง การขยายการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้ บริษัท สยามโตโยต้า อุตสาหกรรม จำกัด มีความสามารถในการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลจาก 200,000 เครื่อง เป็น 350,000 เครื่อง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 และมีการจ้างงานเพิ่มเติมอีก 700 คน จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 2,300 คน" นายมูราอิกล่าว
สำหรับมูลค่าการลงทุนของบริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัดในครั้งนี้ เป็นจำนวนเงินสูงถึงกว่า 5,400 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ส่วนของโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครจังหวัดชลบุรี คาดว่า บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด จะสามารถเริ่มการผลิตเครื่องยนต์ในส่วนของโรงงานใหม่นี้ได้ภายในต้นปี 2553 และขอขอบคุณในความร่วมมืออย่างแข็งขันจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแเฟคเจอ-ริ่ง จำกัด (TMAP-EM) ในการสนับสนุนการลงทุนครั้งใหม่นี้
บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มหาชน ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องยนต์ดีเซล เบนซิน และชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในประเทศและส่งออก โดยเปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2530 มีเงินทุนจดทะเบียน 850 ล้านบาท
No comments:
Post a Comment