Tuesday, June 3, 2008

ปตท.วิ่งไล่ปัญหาเอ็นจีวีไม่ทัน ยอดใช้โตกว่าแผนการจัดหามิ.ย.แล้วโอดสิ้นปีรับภาระเนื้อก๊าซ5พันล.

ปตท.วิ่งไล่ปัญหาเอ็นจีวีไม่ทัน ยอดใช้โตกว่าแผนการจัดหามิ.ย.แล้วโอดสิ้นปีรับภาระเนื้อก๊าซ5พันล.
    ปตท. ยอมรับเหนื่อยแก้ปัญหาขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวีไม่ทันกับความต้องการ เผยยอดการใช้พุ่งขึ้นสูงกว่าแผนการจัดหาก๊าซในเดือนมิ.ย.แล้ว แม้จะเพิ่มสถานีแม่จ่ายก๊าซและรถขนส่ง แต่ยอดรถติดตั้งเอ็นจีวีพุ่งขึ้นเร็วจากปัญหาราคาน้ำมัน เตรียมดึงปั๊มแอลพีจีจำหน่ายเอ็นจีวีแทนแก้ปัญหารอคิวนาน ขณะที่สิ้นปีนี้แบกรับภาระเนื้อก๊าซขายต่ำกว่าต้นทุน 5,000 ล้านบาท

        แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(บมจ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์ส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวีเพื่อรับ วิกฤติราคาน้ำมันว่า ขณะนี้บมจ.ปตท.ยอมรับว่ายังไม่สามารถจัดหาปริมาณก๊าซเอ็นจีวีสนองความต้อง การผู้ใช้รถยนต์เอ็นจีวีได้อย่างเพียงพอ แม้ที่ผ่านมาจะเร่งดำเนินการตามแผนที่วางไว้แล้วก็ตาม เนื่องจากเวลานี้ความต้องการใช้ก๊าซได้พุ่งขึ้นสูงกว่าที่ปริมาณการไว้ใน เดือนมิถุนายนจะอยู่ที่ 2,088 ตันต่อวันแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไป ทำให้ประชาชนหันมาติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ จะเห็นได้จากแต่ละอู่มีการติดตั้งไม่ต่ำกว่า 100 คันต่อวัน ทำให้การจัดหาไม่สามารถไล่ทันกับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นได้

        โดยปัจจุบันยอดการใช้ก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ประมาณ 1,700 ตันต่อวัน ประเมินจากยอดรถยนต์เอ็นจีวีที่มีอยู่กว่า 76,600 คัน แต่ในความเป็นจริงยังไม่สามารถจัดหาก๊าซเอ็นจีวีรองรับรถยนต์ได้อีกประมาณ 400 ตันต่อวัน แม้ว่าจะเพิ่มจำนวนสถานีแม่ในการจ่ายก๊าซและเพิ่มรถขนส่งก๊าซแล้วก็ตามก็ยัง ไม่สามารถรองรับความต้องการได้

        ในขณะที่การจัดสร้างสถานีบริการเอ็นจีวีที่วางแผนไว้ในภายในสิ้นปีนี้จะต้อง มีถึง 355 แห่งนั้น อาจจะไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ อย่างมากคาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 320 แห่ง เพราะการหาสถานที่ก่อสร้างไม่ได้ดำเนินการง่ายๆ

        แต่ทางบมจ.ปตท.พยายามที่จะแก้ปัญหาการเพิ่มสถานีบริการให้มากที่สุด โดยแนวทางหนึ่งจะไปขอความร่วมมือก่อสร้างปั๊มเอ็นจีวีในสถานีบริการก๊าซแอล พีจีจำนวน 25 แห่งโดยการยกเลิกการจำหน่ายแอลพีจีเดิมที่มีอยู่ ซึ่งได้มีการหารือกับผู้ประกอบการมาบ้างแล้ว และในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ จะประสานไปยังกรมธุรกิจพลังงาน เชิญผู้ประกอบการสถานีบริการแอลพีจีที่สามารถจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวีได้มาหารือ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อการตัดสินใจยกเลิกการจำหน่ายก๊าซแอลพีจีเปลี่ยนมาจำหน่ายเอ็นจีวีแทน โดยบมจ.ปตท.จะให้ผลตอบแทนหรือค่าการตลาดไม่ต่ำกว่าที่เคยจำหน่ายก๊าซแอลพีจี ที่ระดับ 1.40 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในทางกลับกันยอดการจำหน่ายเอ็นจีวีจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า

        แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากการสำรวจปั๊มก๊าซแอลพีจีที่มีอยู่ในเขตกทม.และปริมณฑลจำนวน 104 แห่ง มีปั๊มแอลพีจีที่เปิดจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวีแล้ว 3 แห่ง มีปั๊มแอลพีจีที่สามารถเพิ่มการจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวีร่วมกันได้ 1 แห่ง สามารถเป็นปั๊มที่จำหน่ายก๊าซเอ็นจีวีได้แต่ต้องยกเลิกการจำหน่ายแอลพีจี 25 แห่ง เป็นปั๊มแอลพีจีที่มีข้อจำกัดพื้นที่แต่อาจจะสร้างปั๊มเอ็นจีวีได้ 64 แห่ง และเป็นปั๊มแอลพีจีที่ไม่สามารถก่อสร้างปั๊มเอ็นจีวีได้ 11 แห่ง เนื่องจากติดข้อกำหนด

        อย่างไรก็ตาม ผลจากการติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น และยังจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวีต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม คาดว่าจะส่งผลให้บมจ.ปตท.ต้องแบกรับภาระการขาดทุนทั้งปีประมาณ 5,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ขาดทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท

        ส่วนการที่กระทรวงพลังงานเร่งรัดให้ก่อสร้างท่อก๊าซไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยประมาณการว่าจะใช้งบลงทุน 34.850 ล้านบาทนั้น ในระยะทาง 697 กิโลเมตร เพื่อกระจายการใช้ก๊าซเอ็นจีวีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในระยะเวลา 3 ปีนั้น ในส่วนนี้มองว่า การลงทุนดังกล่าวอาจจะต้องสูงถึง 55,760 ล้านบาท เพราะค่าก่อสร้างต่อ 1 กิโลเมตรจะสูงถึง 80 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนที่สูงขนาดนี้อาจจะทำให้มีปัญหาทางการเงินกับทางบมจ.ปตท. เพราะยังไม่ทราบว่าจะหาจากไหน อีกทั้ง จะต้อง ตอบคำถามผู้ถือหุ้นให้ได้ว่า การลงทุนดังกล่าวมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะเป็นการลงทุนที่สูงอาจจะไม่คุ้มกับการลงทุน

        สำหรับการแก้ปัญหาค่าโดยสารรถประจำทาง โดยการหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ 0.5 % ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะมีการนำเงินจำนวน 4,000 ล้านบาทจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาปล่อยกู้ให้ กับรถร่วมขสมก.และรถร่วมบขส.ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งในเร็วๆ นี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด

No comments: