Wednesday, June 4, 2008

ปีหน้าNGVขยับขึ้นเป็น 12บาท/กก

ปตท.หวั่นปัญหาด้านราคาNGVจะซ้ำรอยก๊าซหุงต้ม กลายเป็นระเบิดลูกใหม่ หากไม่สามารถปรับขึ้นราคาNGVได้ตามแผน ยันเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รู้ว่าปีหน้าNGVขยับขึ้นเป็น 12บาท/กก. ระบุปตท.อุ้มมากไปกว่านี้ไม่ได้ หลังคาดปีนี้แบกรับภาระNGV 5 พันล้าน และการขาดทุนค้าปลีกน้ำมัน 5-7 พันล้านบาท ยอมรับปัญหาก๊าซหุงต้มแก้ไขยาก ชี้รถบ้านแห่มาติดตั้งอุปกรณ์ใช้LPGเพิ่มมากขึ้น หวั่นไทยต้องนำเข้าLPGไปตลอดชาติ ประเมินปีหน้าคาดนำเข้าLPGอาจทะลุ 1 ล้านตัน หากรถแท็กซี่ยังใช้LPGและมีการลักลอบขนไปขายในประเทศเพื่อนบ้านอยู่
       
       
       นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาวิกฤตพลังงาน : นโยบาย ยุทธศาสตร์และทางรอดSME"วานนี้(3 มิ.ย.)ว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการภาคการขนส่งหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์(NGV)เพิ่ม ขึ้น ซึ่งราคาNGVที่ตั้งไว้ 8.50 บาท/กก. ซึ่งถูกกว่าราคาเชื้อเพลิงชนิดอื่น จะกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต หากราคาNGVไม่สามารถปรับขึ้นได้ตามนโยบายที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งจะซ้ำรอยก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่อุดหนุนอยู่ สุดท้ายปตท.ก็คงไม่สามารถรับภาระตรงนี้ได้
       
       ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภครู้ว่าราคาNGV จะปรับขึ้นในปีหน้าเป็นกก.ละ 12 บาท และปีถัดไปเพิ่มเป็น 13 บาท/กก. หลังจากนั้นปล่อยไปตามกลไกตลาด โดยจะไม่ยืนราคาไว้อยู่ที่ 8.50บาท/กก. มิฉะนั้น ปตท.คงไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวได้ โดยปีที่แล้วปตท.ขาดทุนจากการขายNGVถึง 2 พันล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะแบกรับภาระเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านบาท ส่วนธุรกิจค้าปลีกน้ำมันแบกภาระขาดทุนในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5-7 พันล้านบาท เนื่องจากต้นปีนี้ ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลติดลบ 32 สตางค์/ลิตร
       
       " ในระยะยาวการทำธุรกิจNGV ทางปตท.ก็หวังได้ว่ามีผลตอบแทนพอคุ้มทุน แต่ระยะสั้นปตท.จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนราคาน้ำมันให้กับภาคขนส่ง แท็กซี่ เพื่อให้เขาเกิดความหวังมาหันใช้NGVมากขึ้น โดยการปรับขึ้นราคาNGVนั้นต้องเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนNGVอยู่ที่ 10บาทกว่า/กก.แล้ว และเชื่อว่าปตท.จะแบกรับภาระNGVลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น " นายประเสริฐกล่าว
       
       สำหรับการแก้ไขปัญหาก๊าซหุงต้มนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะมีการอุดหนุนด้านราคาเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซฯขายก๊าซหุงต้มในประเทศที่ราคา 300 เหรียญสหรัฐ/ตัน ต่ำกว่าราคาตะวันออกกลางที่เป็นเจ้าของแหล่งก๊าซและน้ำมันที่ขายอยู่ตันละ 900 เหรียญสหรัฐ ซึ่งก๊าซหุงต้มทั้งระบบมีการใช้อยู่ 3 ล้านตัน/ปี เท่ากับว่าโรงกลั่นและโรงแยกฯขายในราคาต่ำกว่าตลาดโลกถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ทำให้ปตท.สูญเสียโอกาสคิดเป็นสัดส่วน 60-70%ของวงเงินดังกล่าว
       
       ขณะที่การนำเข้าก๊าซหุงต้มจำเป็นต้องมีผู้รับภาระ 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยทางรัฐจะเป็นผู้รับภาระดังกล่าว โดยให้ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซหุงต้มมาก่อนแล้วได้รับเงินคืนจากการปรับขึ้น ราคาก๊าซหุงต้มสำหรับยานยนต์ที่จะสูงกว่าราคาก๊าซหุงต้มในครัวเรือน
       
       นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้รถบ้านหันมาเปลี่ยนเครื่องยนต์เพื่อใช้ก๊าซหุงต้มที่มีราคาถูกกว่าเป็น จำนวนมาก ทำให้เป็นห่วงว่าไทยยังต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มไปตลอด แม้ว่ารัฐจะมีการปรับราคาก๊าซหุงต้มสำหรับรถยนต์ขึ้นก็ตาม เพราะรถบ้านได้มีการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ไปแล้ว ก็คงไม่มีการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซNGV แม้ว่าราคาก๊าซหุงต้มจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะยังคุ้มเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน
       
       โดยเชื่อว่าปีหน้าไทยจะต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มไม่น้อยกว่า 5 แสนตันและอาจสูงถึง 1 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับว่ารถแท็กซี่จะเปลี่ยนการใช้ก๊าซหุงต้มมาเป็นNGVแค่ไหน และการควบคุมไม่ให้มีการรั่วไหลของก๊าซหุงต้มไปยังประเทศเพื่อนบ้านทำได้มาก น้อยเพียงใด โดย ปีนี้ไทยมีการนำเข้าก๊าซหุงต้ม 2 แสนตัน โดยปตท.จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศโดยรัฐเป็นผู้รับภาระต้นทุน ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น เพราะรัฐคุมราคาขายก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคานำเข้าสูงถึง 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน รัฐรับภาระถึงตันละ 600 เหรียญสหรัฐ
       
       "เราอาจจะให้รถแท็กซี่ให้เปลี่ยนจากใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเอ็นจีวีได้ แต่รถบ้านที่วันนี้แห่มาเปลี่ยนเป็นมาใช้ก๊าซหุงต้มจำนวนมาก คงเป็นไปได้ยาก โดยแม้ว่ารัฐจะปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มสำหรับยานยนต์จาก 11 บาท/ลิตรเป็น 20 บาท/ลิตร ซึ่งเมื่อเทียบกับน้ำมัน 40 บาท/ลิตร ก็ยังคุ้ม ซึ่งจะเป็นปัญหาที่แก้ยาก เพราะโครงสร้างราคาทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นคงต้องปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มสำหรับยานยนต์ให้เท่ากับราคาตลาดโลก จะทำให้แรงจูงใจน้อยลง แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าราคาก๊าซหุงต้มจะปรับไปได้สูงถึงขนาด นั้น"
       
       นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ปตท.มีความพร้อมในการจำหน่ายน้ำมันอี 85 เนื่องจากจำนวนรถที่เติมอี 85 ในช่วงแรกมีจำนวนไม่มาก ทำให้ค่อยๆทยอยเปิดปั๊ม โดยในช่วง 3-5 เดือน ปตท.และบางจากจะมีปั๊มที่จำหน่ายอี 85 ประมาณ 50-60 แห่ง หลังจากนั้นค่อยเร่งผลิตเอทานอลและขยายปั๊มเพิ่มขึ้นได้ตามจำนวนรถยนต์ที่ ใช้อี 85 ได้
       
       **นักวิชาการแนะรัฐปรับตัว
       
       ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยควรต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกับประชาชน และเห็นภาครัฐควรปล่อยให้ราคาพลังงานเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้ โดยประชาชนและภาคอุตสาหกรรมไทยควรต้องมีการปรับตัวเช่นกัน
       
       ปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันคิดเป็น 8%ของจีดีพี สูงสุดในเอเชีย ขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยเพียงพอชำระค่าน้ำมันได้เพียง 1 เดือนครึ่ง หรือถ้ารวมการส่งออกพืชผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพียงพอชำระค่าน้ำมันได้ แค่ 9 เดือนเท่านั้น ทำให้ไทยต้องขาดดุลการค้าหนัก หากปล่อยให้ดุลการค้าขาดดุลไปนาน จะส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจทรุดได้เพราะสำรองเงินตราที่มีอยู่คงไม่เพียงพอ
       
       ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาด้านพลังงาน คือ 1. รัฐควรปล่อยให้ราคาพลังงานเป็นไปตามกลไกตลาด 2.โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพิงน้ำมันให้น้อยที่สุด และ 3.สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลักดันการใช้อี 85 โดยประเมิณว่าราคาน้ำมันอี 85 น่าจะอยู่ที่ 22-23 บาท/ลิตร ถ้าประชาชนบริโภคน้ำมันอี 85 แค่ 60%จะประหยัดการนำเข้าน้ำมันได้ถึง 1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันภาคการเกษตรก็จะมีเงินเพิ่มขึ้น 1แสนล้านบาทจากการปลูกพืชทดแทน และเชื่อว่าพื้นที่เพาะปลูก 65 ล้านไร่เพียงพอ แต่รัฐต้องมีการจัดสรรพื้นที่ให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่
       
       จากการที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ ผ่านมา ส่งผลให้เงินเฟ้อพ.ค.ปรับตัวเพิ่มสูงสุดในรอบ 10ปี มาอยู่ที่ 7.6% แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบชัดเจนในช่วงส.ค.-ก.ย.นี้ และเมื่อมีปัญหาน้ำมันและเงินเฟ้อจะส่งผลต่อบริษัทจดทะเบียนทำให้สามารถทำ กำไรลดลง และการจัดเก็บภาษีของรัฐลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ดังนั้นบริษัทจดทะเบียนต้องปรับตัวมีการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ควบคุมต้นทุนการผลิตสินค้าและมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประสิทธิภาพการผลิต ที่ดีขึ้น
       
       สำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) การทำธุรกิจต้องมีการระมัดระวังค่าใช้จ่ายให้ดี รวมถึงการหาตลาดใหม่ เพราะกำลังซื้อลดลง ต้นทุนสินค้าเพิ่มและดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้กำไรน้อยลง ส่งผลให้การเสียภาษีลดลงไปด้วย
       
       **ปตท.ยันยังไม่ลดราคาดีเซล
       
       นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ยังกล่าวอีกว่า ปตท.จะยังไม่มีการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลในประเทศช่วงนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตะวันออกกลางจะปรับตัวลดลงมาบ้างแล้ว แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงและยังมีความผันผวน ประกอบกับช่วงที่น้ำมันราคาสูงปตท.ตรึงราคาและขายต่ำกว่าหน้าโรงกลั่น 2-3 บาทอยู่แล้วจึงไม่สามามารถลดลงได้เร็วแม้ค่าการตลาดจะกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย แล้วก็ตาม
       
       อย่างไรก็ตามหากราคาน้ำมันดิบสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์มีแนวโน้มปรับ ลดลงเหลือ 150 เหรียญต่อบาร์เรล อาจมีการปรับลดลงได้ จากปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับ 156 เหรียญต่อบาร์เรล จึงต้องจับตาดูต่อไปว่าราคาน้ำมันในภูมิภาคจะลดลงกว่านี้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีสัญญาณการใช้น้ำมันชะลอตัวลง
       
       "สถานการณ์เงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียที่สูงขึ้นมากเป็นแรงกดดันให้ เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวและประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ทำให้การใช้น้ำมันเริ่มชะลอตัวลง จึงต้องรอดูว่าหลังการแข่งขันโอลิมปิคจีน รวมถึงอินเดียจะมีการใช้ลดลงอีกหรือไม่ หากแนวโน้มการใช้ลดลงราคาน้ำมันก็น่าจะปรับลดลงได้ ซึ่งปตท.จะรีบปรับราคาลงทันทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน"นาย ประเสริฐกล่าว
       
       ส่วนการที่โรงกลั่นของปตท.จัดสรรน้ำมันดีเซลช่วยเหลือประชาชนในภาวะ วิกฤติน้ำมันแพงตามนโยบายของกระทรวงพลังงานในช่วง 6 เดือนนี้รวม 700 กว่าล้านลิตร มูลค่า 200 ล้านบาทนั้น ถือเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ทางนักลงทุนและผู้ถือหุ้นของปตท.น่าจะข้าใจและไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินงาน เพราะปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องสนองนโนยาบรัฐบาล
       
       อย่างไรก็ตามการที่มีผู้เรียกร้องให้ปตท.ต้องปฎิบัติตามพ.ร.บ.แข่ง ขันทางการค้าเหมือนเอกชนรายอื่นๆนั้นคงต้องคำนึงด้วยว่าปตท.จะไม่สามารถขาย น้ำมันดีเซลได้ต่ำกว่าทุนเหมือนในปัจจุบัน เพราะหากดำเนินการดังกล่าวทางผู้ประกอบการรายอื่นสามารถฟ้อร้องผู้บริหารและ ผู้มอบนโยบายได้เช่นเดียวกันและจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นทันทีลิตรละ 3 บาท
       
       **ปิยสวัสดิ์แนะลดบริโภคน้ำมัน
       
       นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์น์ ประธานที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์ของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันน่าจะเกิดขึ้นจากความ ต้องการบริโภคที่สูงกว่าปริมาณการผลิต ไม่ใช่การเก็งกำไรที่หลายฝ่ายมีความเห็นออกมาก่อนหน้านี้
       
       ทั้งนี้ หากเป็นการเก็งกำไรแล้วปัจจัยที่จะนำมาวิเคราะห์ก่อนการลงทุนจะเป็นเรื่อง ความต้องการบริโภค และกำลังการผลิตที่จะเป็นตัวกำหนดราคา และหากไม่มีการบริโภคจริงการเก็งกำไรจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากจะทำให้ราคาไม่เป็นตามที่คาดไว้
       
       สำหรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศเกิดใหม่อย่างจีน และอินเดียเท่านั้น แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเองก็มีการบริโภคสูงเช่นกัน แต่ในส่วนกำลังการผลิตกลับไม่สามารถขยายได้ตามความต้องการ ซึ่งหากกลุ่มประเทศโอเปกมีการเพิ่มการผลิตจริงน่าจะทำได้เพียงแค่ 5 แสนบารร์เรรลต่อวัน ในขณะที่ความต้องการขณะนี้มีสูงถึง 1 ล้านบาร์เรลล์ต่อวัน
       
       นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาการบริโภคน้ำมันของประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลควรมีนโยบายที่ มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากกว่าด้านคุณภาพอย่างเดียว ซึ่งบางนโยบายที่รัฐบาลนำออกมาใช้ก่อนหน้านี้มิได้เอื้อต่อการลดการบริโภคใน ระยะยาวจึงควรที่จะมีการทบทวนใหม่ และนำแนวทางที่มีสามารถลดการบริโภคน้ำมันอย่างจริงจังได้มาใช้แทน โดยเชื่อว่าจะสามารถลดผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นได้
       
       "นโยบายบางตัวต้องทบทวนอย่างการให้กู้เงินซื้อเครื่องไฟฟ้าดอกเบี้ย ต่ำ มันไม่ได้ช่วยในเรื่องการลดการบริโภค เป็นเพียงแค่ลดตัวเลขการใช้ไฟฟ้าในระยะสั้นเท่านั้น ซึงการแก้ปัญหาด้านราคาน้ำมันของประเทศไทยในระยะยาวแล้วควรที่จะหาทางลดการ บริโภคน้ำมันของประชาชนลงมากกว่า"นายปิยสวัสดิ์กล่าว

No comments: